"Curiosity" มุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร

- ภาพจำลอง Curiosity (NASA/JPL-Caltech) -
Curiosity คือชื่อของห้องทดลองเคลื่อนที่สำหรับวิเคราะห์ดาวอังคาร (Mars Science Laboratory: MSL) ซึ่งทะยานขึ้นจากผิวโลกเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2554 ตามภารกิจสำรวจดาวอังคารของนาซ่า ขณะนี้มันกำลังหลับใหลอยู่ระหว่างการเดินทางอันยาวนานถึง 8 เดือน ภายในยานอวกาศที่มุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร และคาดว่าจะไปถึงเป้าหมายตามกำหนดคือวันที่ 6 สิงหาคม 2555 โดย Curiosity จะลงแตะพื้นผิวดาวบริเวณที่เรียกว่า Gale Crater และจะใช้เวลาหลังจากนั้นประมาณ 23 เดือนของโลก [1] เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนนั้น

- พื้นผิวดาวอังคารบริเวณ Gale Crater ที่ซึ่ง Curiosity จะลงจอด (NASA/JPL-Caltech/ASU/UA) -
Curiosity ดูเผิน ๆ อาจคล้ายหุ่นยนต์ที่มีล้อเพื่อเคลื่อนไปตามพื้นผิวดาวทั่วไป แต่ในความเป็นจริงเจ้า Curiosity มีขนาดใหญ่มาก แถมหนักกว่าหุ่นตัวอื่น ๆ ที่เคยสำรวจดาวอังคารมาแล้วอย่าง Spirit และ Opportunity ประมาณ 5 เท่า! [2] ล้อของมันถูกออกแบบมาให้สามารถเคลื่อนผ่านสิ่งกีดขวางที่มีขนาดความสูงมากถึง 65 เซนติเมตร และสามารถแล่นไปบนพื้นผิวอันแปลกประหลาดของดาวอังคารได้เป็นระยะทางประมาณ 200 เมตรต่อวัน

ปลายมิถุนายน 2555 Curiosity จะถูกปลุกให้ตื่นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจครั้งสำคัญ วิศวกรจะทำการตรวจสอบวิถีการเคลื่อนที่และติดตามตำแหน่งของเจ้า Curiosity อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด ส่วนที่ยากที่สุดคือช่วงที่ Curiosity ดำดิ่งฝ่าชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้เพื่อลงจอด

หุ่นสำรวจดาวอังคารตัวอื่น ๆ สามารถใช้ถุงอากาศเพื่อหย่อนตัวลงแตะพื้นดิน แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้กับ Curiosity ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 900 กิโลกรัม มันต้องอาศัย sky crane ในการค่อย ๆ หย่อนตัวมันลงมาสู่เบื้องล่าง วัตถุประสงค์หลักของ Curiosity หลังจากที่มันแตะพื้นผิวดาวอังคารมี 4 ข้อ คือ
  •  ตอบคำถามที่ว่าดาวอังคารมี (หรือเคยมี) สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่
  •  ระบุถึงสภาพอากาศที่เป็นผลมาจากชั้นบรรยากาศในอดีตและปัจจุบันของดาว
  •  ทำความเข้าใจกระบวนการและโครงสร้างทางธรณีวิทยาของดาวอังคาร ปรับปรุงภาพพื้นผิวดาว  จากที่เคยมีอยู่เดิม
  •  รวบรวมข้อมูลเพื่อปูทางให้กับการส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคารในอนาคต
- ภาพจำลองการลงจอดของ Curiosity โดยใช้ sky crane (JPL-Caltech/NASA/AP) -
แขนของ Curiosity ยาวประมาณ 2.1 เมตร โครงสร้างของแขนประกอบด้วยอุปกรณ์เจาะ เก็บ คัดกรอง ดินและหินของดาวอังคารเพื่อส่งผ่านมายังอุปกรณ์ตรงส่วนตัว นอกจากนี้ตรงส่วนแขนยังมีกล้องถ่ายภาพระดับจุลภาค สามารถบันทึกภาพรายละเอียดของผิวดาวในระดับที่เล็กกว่าความกว้างของเส้นผมมนุษย์ ที่แขนยังมีอุปกรณ์วัดปริมาณธาตุต่าง ๆ ในทรายและหินที่มันเก็บมาได้อีกด้วย

ลำตัวของ Curiosity ถูกติดตั้งด้วยอุปกรณ์วิเคราะห์องค์ปะกอบของชั้นบรรยากาศและพื้นดินซึ่งสามารถระบุการมีอยู่ของสารประกอบคาร์บอนได้หลากหลายชนิด และสามารถตรวจวัดปริมาณธาตุอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตบนดาวอังคาร

Curiosity ยังมีกล้องความละเอียดสูงติดตั้งที่ระดับความสูงเดียวกับสายตามนุษย์ซึ่งสามารถบันทึกภาพในย่านคลื่นวิทยุและบันทึกวิดีโอความละเอียดสูงได้ อุปกรณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเครื่องยิงเลเซอร์เพื่อทำให้ดินและหินในระยะ 7 เมตร ระเหิดกลายเป็นก๊าซ โดยสามารถวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของก๊าซนั้นได้

นอกจากนี้เจ้า Curiosity ยังมีเครื่องตรวจวัดระดับรังสีที่พื้นผิวดาว ข้อมูลทั้งหลายทั้งมวลจะช่วยนักวิทยาศาสตร์ในการวางแผนส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคารในอนาคต และหาข้อสรุปถึงความเป็นไปได้ที่ดาวอังคารจะเป็นบ้านหลังที่ 2 ของพวกเราทุกคน



[1] เนื่องจากดาวอังคารมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์คล้ายวงรี และอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลก 1 เดือนของดาวอังคาร จึงยาวนานประมาณ 2 เดือนบนโลก

[2] Curiosity ยาวประมาณ 3 เมตร และมีน้ำหนักมากถึง 900 กิโลกรัม

เรียบเรียงจาก: “Curiosity is on its way to Mars” นิตยาสาร Astronomy –March 2012

บทความที่เกี่ยวข้อง:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น